|
|
ทองพันชั่ง (ชื่อวิทยาศาสตร์: Rhinacanthus nasutus Kurz) หรือทองคันชั่ง หรือหญ้ามันไก่
มีลักษณะเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก สูงประมาณ 0.5-2 เมตร กิ่งอ่อนและลำต้นมักเป็นเหลี่ยม
ส่วนที่ยังอ่อนมักมีขนปกคลุมใบรูปคล้ายรูปไข่หรือวงรี กว้าง 2-4 ซม. ยาว 4-8 ซม. ก้านใบยาว 0.5-1 ซม.
ดอกออกเป็นช่อตามซอกกิ่งยาวประมาณ 10 ซม. แต่ละดอกมีสีขาว ผลใหญ่ประมาณ 1 ซม.
ผลเป็นผลแห้งแตกได้ มักมีขน การขยายพันธุ์ใช้ปักชำ ตัดกิ่งแก่ที่มีตาติดอยู่ 2-3 ข้อปลิดใบทิ้ง
แล้วนำไปปักชำในดินที่ชุ่มชื้นให้กิ่งเอียงเล็กน้อยขึ้นได้ในดินทั่วไป สรรพคุณรักษาโรคผิวหนัง
(ชนิดกลาก เกลื้อน) ทาแก้กลากเกลื้อน การที่ทองพันชั่ง สามารถรักษากลากเกลื้อนได้
เพราะน้ำยาที่สกัดด้วยแอลกอฮอล์จะมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อราที่ทำให้เกิดโรคกลากเกลื้อนได้ ส่วนที่ใช้เป็นยา
ได้แก่ ใบสด และรากสด |
|
สรรพคุณ :
- ดับพิษไข้ รักษาโรคผิวหนัง ริดสีดวงทวารหนัก แก้ไอเป็นเลือด ฆ่าพยาธิ
นำใบหรือรากประมาณ 1 กำมือ ต้มรับประทาน เช้าเย็นทุกวัน
- รักษากลาก เกลื้อน ใช้ใบ หรือรากตำให้ละเอียด แช่เหล้าโรงพอท่วมไว้ 7 วัน
ใช้น้ำยาทาบริเวณที่เป็น วันละ 3-4 ครั้ง จนกว่าจะหาย หายแล้วทาต่ออีก 7 วัน
- แก้โรคปัสสาวะบ่อย เอา ต้น ใบ ดอก ก้าน ราก ล้างให้สะอาด สับเป็นชิ้นเล็ก ๆ
ตากแดดให้แห้ง ต้มให้เดือด ใช้ดื่ม |
|
ที่มาของข้อมูล : www.thaiwikipedia.com ค้นหาคำว่า " ทองพันชั่ง" |
|
|
|
กลาก |
|
กลาก (Ringworm) เป็นโรคติดเชื้อราบนผิวหนังที่ปรากฏเป็นวงแดงหรือขุยสีขาว และอาจมีอาการอักเสบคล้ายผื่นแดงร่วมด้วยได้
กลากสามารถขึ้นตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ตั้งแต่หนังศีรษะ ใบหน้า มือ เท้า เล็บ และขาหนีบ
โดยพบได้ทุกเพศทุกวัย แต่มักจะพบบ่อยในเด็ก |
|
อาการของโรคกลาก
กลากที่เกิดขึ้นตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายจะมีอาการแตกต่างกันไปดังนี้
- กลากที่หนังศีรษะ มักเกิดกับเด็กช่วงวัยใกล้โตหรือวัยรุ่น อาการโดยทั่วไปมักทำให้หนังศีรษะตกสะเก็ดเป็นจุดเล็ก ๆ เจ็บเมื่อสัมผัส
เส้นผมร่วงเป็นหย่อม ๆ และคันหนังศีรษะ ส่วนในรายที่อาการรุนแรงอาจมีตุ่มหนองเล็ก ๆ บนหนังศีรษะ มีสะเก็ดแห้ง
และผมร่วงจนศีรษะล้านเป็นหย่อม ๆ แต่หากร้ายแรงมากอาจทำให้เจ็บและพุพองเป็นแผลขนาดใหญ่ที่เรียกว่าชันนะตุ มีหนองไหล
และตามมาด้วยเป็นไข้และภาวะต่อมน้ำเหลืองโต
- กลากที่ร่างกายและผิวหนังทั่วไป มักทำให้เกิดอาการคัน แดง ระคายเคืองรอบวงกลาก วงของกลากมักปรากฏเป็นขอบชัดเจน
และแดงกว่าบริเวณผิวหนังปกติ แต่ตรงกลางของวงจะปรากฏในลักษณะผิวหนังสีปกติ ในกรณีที่รุนแรง
กลากอาจมีขนาดใหญ่ขึ้นหรือรวมกันเป็นวงใหญ่ เป็นรอยนูนขึ้นมา คันภายใต้ผิวหนัง และอาจมีตุ่มพองหรือตุ่มหนองเกิดขึ้นรอบวง
- กลากที่เท้า (เชื้อราที่เท้า) รู้จักกันในชื่อน้ำกัดเท้าหรือฮ่องกงฟุต เป็นโรคทางผิวหนังที่พบได้บ่อยมาก
การติดเชื้อราที่เท้าอาจทำให้เกิดอาการแห้ง
คัน มีผื่นแดงเป็นแผ่นบริเวณง่ามนิ้ว โดยเฉพาะนิ้วนางและนิ้วก้อย
หรือในระดับที่รุนแรงอาจมีอาการผิวหนังแตกแห้ง เป็นตุ่มพอง เป็นขุยสะเก็ด ผิวหนังบวม แสบหรือเจ็บ ๆ คัน ๆ
ที่ผิวหนัง และอาจมีผิวหนังแห้งเป็นขุยรอบ ๆ ฝ่าเท้า ง่ามนิ้ว และข้างเท้า
- กลากบริเวณขาหนีบหรือโรคสังคัง พบได้บ่อยในเพศชายวัยรุ่นหรือวัยผู้ใหญ่ มักเกิดเป็นสีน้ำตาลแดง อาจมีอาการเจ็บ
เกิดตุ่มพอง หรือเป็นตุ่มหนองรอบ ๆ วงกลาก มีอาการคันและแดง และอาจมีผิวหนังเป็นแผ่นตกสะเก็ดรอบบริเวณขาหนีบ
เช่น ต้นขาด้านในและก้น นอกจากนี้ยังอาจขยายไปสู่ต้นขาข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้าง กลากบริเวณนี้มักเกิดขึ้นได้จากการมีเหงื่อ
อากาศที่ร้อนชื้น หรือการเสียดสีจากเสื้อผ้าที่รัด
- กลากที่ใบหน้าและลำคอ อาจไม่ปรากฏเป็นดวงคล้ายวงแหวนอย่างกลากชนิดอื่น ๆ แต่เกิดเป็นอาการคัน บวม
และแห้งจนเป็นสะเก็ด
ซึ่งหากเกิดที่บริเวณหนวดอาจทำให้หนวดหลุดร่วงเป็นหย่อมได้
- กลากที่มือ ทำให้ผิวหนังบริเวณฝ่ามือและง่ามนิ้วหนาขึ้น โดยอาจเป็นข้างเดียวหรือเป็นทั้ง 2 ข้างพร้อมกัน
แต่ส่วนใหญ่มักพบแค่ข้างเดียว
- กลากที่เล็บ นับเป็นโรคเชื้อราที่เล็บชนิดหนึ่งที่พบได้บ่อย กลากที่เล็บอาจทำให้เจ็บปวดและระคายเคืองผิวหนังบริเวณรอบ
โดยเล็บมือที่ติดเชื้อรานี้จะดูขาว ขุ่นทึบ หนา และหักง่าย แต่หากเกิดขึ้นที่นิ้วเท้าอาจจะมีสีออกเหลือง หนา และแตกหักง่าย
ทั้งนี้ผู้ที่ติดเล็บปลอมจะยิ่งทำให้เสี่ยงเกิดเชื้อราที่เล็บ เนื่องจากที่ตะไบเล็บอาจเป็นตัวสะสมเชื้อรา รวมถึงน้ำที่อาจสะสมอยู่ใต้เล็บปลอม
เป็นเหตุให้เชื้อราเติบโตได้ดีจากความชื้น |
|
สาเหตุของโรคกลาก
โรคกลากเกิดจากเชื้อราที่ผิวหนังในกลุ่มเดอมาโทไฟท์ (Dermatophytes) เชื้อราเหล่านี้จะอาศัยอยู่บนชั้นเนื้อเยื่อโปรตีนเคราติน
บนผิวหนังที่ตายแล้วเท่านั้น แต่มักจะไม่เข้าสู่ร่างกายหรือเยื่อบุผิวอย่างปากหรือจมูก |
|
เชื้อราเป็นสปอร์เล็ก ๆ ที่มีความคงทนและสามารถอยู่รอดบนผิวหนังของมนุษย์ ในพื้นดิน หรือตามสิ่งของต่าง ๆ
ได้เป็นเวลาหลายเดือน
และยังเจริญเติบโตได้ดีในสภาพอากาศร้อนชื้นอย่างเช่นในประเทศไทย จึงเกิดการแพร่กระจายได้ง่าย
โดยสามารถติดจากคนและสัตว์ด้วยการสัมผัส การจับสิ่งของที่มักมีเชื้อรานี้เกาะอยู่ เช่น เสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว หวี และแปรงสีฟัน
หรือติดจากดินในกรณีที่ต้องทำงานหรือยืนเท้าเปล่าบนพื้นดินที่มีเชื้อรา |
|
ภาวะแทรกซ้อนของโรคกลาก
โรคการติดเชื้อจากราอย่างกลากเป็นไปได้ยากที่จะแพร่ไปสู่ใต้ชั้นผิวหนังและทำให้เกิดอาการป่วยหรือภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรง
อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่มีระบบภูมคุ้มกันร่างกายไม่แข็งแรง เช่น ผู้ป่วยโรคติดเชื้อเอชไอวีหรือเอดส์
อาจส่งผลให้การรักษาให้หายทำได้ยาก |
|
การลุกลามของกลากจากจุดหนึ่งไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกายสามารถเกิดขึ้นได้ง่าย เพียงสัมผัสกับบริเวณที่ติดเชื้อ
ผู้ป่วยจึงควรหมั่นล้างมือเพื่อป้องกันการแพร่ของเชื้อไปยังส่วนอื่นเพิ่ม |
|
นอกจากนี้หากผู้ป่วยเกาผิวหนังที่ติดเชื้อบ่อย ๆ ก็อาจทำให้มีการติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย จนทวีความรุนแรงของอาการขึ้น
กรณีนี้แพทย์จึงอาจสั่งจ่ายยาปฏิชีวนะเพื่อยับยั้งการติดเชื้อแบคทีเรียที่เกิดขึ้นด้วย |
|
การป้องกันโรคกลาก
- ป้องกันตนเองจากผู้ป่วยหรือสัตว์ที่มีการติดเชื้อโรคกลาก กลากในสัตว์มักปรากฏเป็นรอยขนร่วงเป็นหย่อม
หรืออาจไม่สามารถสังเกตได้เลย ผู้เลี้ยงสัตว์ควรนำสัตว์เลี้ยงไปตรวจเพื่อป้องกันการเกิดโรคและติดเชื้อ
- ล้างมือเป็นประจำเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ
- หมั่นทำความสะอาดพื้นที่ส่วนรวมที่ใช้ร่วมกัน โดยเฉพาะตามโรงเรียน ศูนย์เลี้ยงดูเด็ก โรงยิม และสระว่ายน้ำ
- รักษาความสะอาดของร่างกาย เช็ดตัวและศีรษะให้แห้ง อย่าสวมใส่เสื้อผ้าที่ชื้น
- อาบน้ำทำความสะอาดร่างกายทุกครั้งหลังจากการออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมที่ต้องสัมผัสร่างกายผู้อื่น
- ควรสวมใส่รองเท้าเมื่อเดินในห้องล็อคเกอร์ ห้องน้ำหรืออาบน้ำสาธารณะ
- หลีกเลี่ยงการใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกันไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า แปรงสีฟัน ผ้าเช็ดตัว หรือข้าวของอื่น ๆ
- ไม่ควรสวมใส่เสื้อผ้าหนาเป็นเวลานานในที่ที่มีอากาศร้อนหรือชื้น |
|
คัดลอกข้อมูลบางส่วนจาก : https://www.pobpad.com/กลาก |
|
|
|